ตังหน ๑

Calophyllum calaba L.

ชื่ออื่น ๆ
ปะอง (เขมร-สุรินทร์); ป๊ะอุ้ง (ส่วย-สุรินทร์); พังหันเกล็ดแรด (จันทบุรี); พะอูง (หนองคาย)
ไม้ต้น ทุกส่วนมียางใสสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนานรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงรูปทรงค่อนข้างกลม สุกสีเขียวแกมสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดรูปคล้ายผล

ตังหนชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. ทุกส่วนมียางใสสีเหลืองคล้ายน้ำผึ้ง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน รูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนานถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๓.๕-๘ ซม. ปลายแหลมถึงมนกลม บางครั้งเว้าบุ๋ม โคนรูปลิ่มถึงสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบจำนวนมาก เรียงขนานกัน ก้านใบยาว ๓-๘ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. มี ๓-๑๑ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๓-๑ ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๒ กลีบ เรียงตรงข้าม รูปไข่กลับแกมรูปรีถึงรูปไข่ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๓-๕ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม กลีบดอก ๒ กลีบ เรียงตรงข้ามรูปขอบขนานแกมรูปรีถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๔.๕-๗ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มเป็นแถบ เกสรเพศผู้ ๔๓-๙๕ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๒-๗ มม. อับเรณูยาว ๑-๑.๒ มม.


รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม ยาว ๑.๕-๒ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรีถึงรูปทรงค่อนข้างกลม ยาว ๐.๕-๑ ซม. สุกสีเขียวแกมสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน เมล็ดรูปคล้ายผล

 ตังหนชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคเหนือ พบตามป่าพรุ ป่าชายหาด ป่าเต็งรัง จนถึงป่าดิบชื้น ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม เป็นผลเดือนตุลาคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบตั้งแต่เวียดนามจนถึงอินโดนีเซียแถบบอร์เนียว

 ประโยชน์ ลำต้นใช้ก่อสร้างหรือทำเครื่องเรือนผลสุกรับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตังหน ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Calophyllum calaba L.
ชื่อสกุล
Calophyllum
คำระบุชนิด
calaba
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ปะอง (เขมร-สุรินทร์); ป๊ะอุ้ง (ส่วย-สุรินทร์); พังหันเกล็ดแรด (จันทบุรี); พะอูง (หนองคาย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.สราวุธ สังข์แก้ว และ ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์